น้อมนำคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เป็นแนวทางดำรงชีวิต
เพื่อน้อมรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ทางเว็บไซต์ จึงขอรวบรวม พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มานำเสนอ เพื่อเป็นแนวทาง เป็นหลักปฏิบัติในการดำรงชีิวิตสืบไป
“การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจ และความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตร แก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ โรงเรียนนายร้อยตำรวจฯ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙
“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
“การมีเสรีภาพนั้น เป็นของที่ดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ตามความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพ และความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๔
“การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖
“คุณธรรมข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ การให้ การให้นี้ไม่ว่าจะให้สิ่งใดแก่ผู้ใดโดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคล และให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕
“หลักการสำคัญประการหนึ่ง ที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติงานสำเร็จ และเจริญก้าวหน้าได้แท้จริง คือการไม่ทำตัวทำความคิดให้คับแคบ หากให้มีเมตตาและไมตรี ยินดีประสานสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ร่วมงานอย่างจริงใจ”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐
“เมื่อมีโอกาสและมีงานให้ทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันและซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐
“การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทน
เป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้วไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓
“ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง สองประการนี้ คือคุณลักษณะสำคัญของไทย ที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดเป็นอิสระ และเจริญมั่นคง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๒
“การทำงานใดๆ ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้ และเมื่อใดพลังของความเพียรนี้เกิดขึ้น เมื่อนั้นการงานทั้งหลายก็สำเร็จได้โดยง่ายดาย และรวดเร็ว”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๒
“ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องแก้ไข อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆ คนหลายๆ ทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง และบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๓
“ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ๒๕๓๙
“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒
“คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องอยู่เป็นหมู่คณะ และถ้าหมู่คณะนั้นมีความสามัคคี คือเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือในทุกเมื่อ ช่วยกันคิดว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่สมควร สิ่งใดที่จะทำให้นำมาสู่ความเจริญความมั่นคง ความสุขก็ทำ สิ่งใดที่นำมาซึ่งหายนะหรือเสียหายก็เว้น และช่วยกันปฏิบัติทั้งหน้าที่ทางกายทั้งหน้าที่ทางใจ”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดสระบุรี ๑๖ เมษายน ๒๕๑๙
“ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบ และการหาเลี้ยงชีพชอบ เป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบ และหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับใช้กระทำการทำงาน สิ่งหลังเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติ และการปฏิบัติงานให้ชอบคือให้ถูกต้องและเป็นธรรม”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ๔ จังหวัดภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๙
“สามัคคี หรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่าคนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง คนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน แม้จะขัดกันบ้างก็ต้องสอดคล้องกัน”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖
“ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษ หรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงที่อื่นๆ ด้วยเหตุนี้ทุกคนทุกประเทศในโลก จึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน ทั้งในการแก้ไข ลดปัญหา และปรับปรุงสร้างเสริมสภาวะแวดล้อม ให้กลับคืนมาสู่สภาพอันจะเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเอง และเพื่อนมนุษย์”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกในพิธีรับมอบเรือขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าฯ ถวาย ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
“ความรู้ในวิชาการ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ และทำให้เป็นคนที่มีเกียรติ เป็นคนที่สามารถ เป็นคนที่มีความพอใจได้ในตัวว่า ทำประโยชน์แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม นอกจากวิชาความรู้ ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัย และสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสวันปิดภาคเรียนของโรงเรียนจิตรลดา ๒๕ มีนาคม ๒๕๑๕
“ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมาก สำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจ และเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย ที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใดก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕
“งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงานเช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๖
“การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญา และความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑
“คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วย เมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลาย มีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๑
“ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐
“ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓
“การศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นการศึกษาที่สำคัญ และควรจะดำเนินควบคู่กันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เพราะความเจริญของบุคคล ตลอดจนถึงความเจริญของประเทศ และของโลกโดยส่วนรวมด้วยนั้น มีทั้งทางวัตถุและจิตใจ ความเจริญทั้งสองทางนี้ จะต้องมีประกอบกัน เกื้อกูลและส่งเสริมกันพร้อมมูล จึงจะเกิดความเจริญที่แท้จริงได้ ประเทศทั้งหลายจึงต่างพยายามส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พร้อมกันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๕
“วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัยมีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ ทุกๆ คนจะต้องเตรียมกายเตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนนั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบาและกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๘ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๗
ที่มา – news.thaiware.com