“ก่อสร้างอาคารในซอยแคบ”ปัญหาค้างท่อ ที่ยังรอการแก้ไข​​​​

“ก่อสร้างอาคารในซอยแคบ” ปัญหาค้างท่อ ที่ยังรอการแก้ไข​​​​

แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้น หลังโครงการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ อย่างโรงแรมเอทัช ในซอยร่วมฤดี และคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดให้เพิกถอนการก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ ความเชื่อมั่นและผู้อยู่อาศัยซึ่งเป็นผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถือว่าเรื่องนี้เป็น ​“บทเรียน” สำคัญที่ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องขบคิด หาทางป้องกันไม่ให้เกิด “ซ้ำรอย”

ในขณะเดียวกัน บทเรียน เรื่องนี้เอง ได้ปลุกกระแสสังคมและชุมชนให้เกิดการตื่นตัว ตระหนักรู้ถึงปัญหา ผลกระทบและความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากการก่อสร้างอาคารในซอยแคบ จนเกิดการรวมตัวร้องเรียน คัดค้านการก่อสร้างโครงการที่ส่อว่าอาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ควบคุมอาคาร กฎกระทรวง เรื่องควบคุมอาคาร และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมอาคาร ในเรื่องของระยะความกว้างทางสาธารณะ เพื่อความสะดวกในการสัญจรเพื่อระงับเหตุได้ทันหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุเพลิงไหม้

สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ปัญหาการก่อสร้างอาคารในซอยแคบไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของเมือง ที่การสร้างอาคารขยับย้ายเข้าไปก่อสร้างในซอยและใกล้ชุมชนมากขึ้น เพื่อตอบสนองภาคธุรกิจและความต้องการที่อยู่อาศัยในย่านกลางใจเมือง

การลุกขึ้นมาร้องขอให้แก้ไขการก่อสร้างอาคารในซอยแคบของชาวชุมชนดั้งเดิมจึงไม่ไช่คัดค้าน แต่ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้สมกับคำว่า การพัฒนาความเจริญ จากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิกเฉย หรือ ยื้อเวลา ทิ้งร้างไม่แก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง อาจสร้างความสูญเสียที่ยากต่อประเมินมูลค่าได้ หากเกิดเพลิงไหม้ เป็นโศกนาฏกรรม เพียงเพราะพยายามเพิ่มปริมาณความหนาแน่นในพื้นที่ ที่มีความหนาแน่นมากอยู่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่นเหตึการณ์เพลิงไหม้ รถดับเพลิง ซึ่งมีขนาดใหญ่ รถกู้ภัยและรถพยาบาลไม่สามารถเข้าไประงับเหตุหรือช่วยเหลือได้ทัน รวมไปถึงรถของประชาชนที่จะต้องมีการอพยพออกจากสถานที่เกิดเหตุก็จะทำได้ยากเช่นกัน

ดังนั้น สภาผู้บริโภค เห็นว่า ปัญหาความกว้างของทางสาธารณะในซอยที่จะมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีทั้งระยะความกว้างที่ยานพาหนะสัญจรได้จริงและวิธีการวัดที่ถูกต้อง ไม่ควรวัดเพื่อให้ได้ความกว้างตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเดียว หรือ เป็นไปตามที่ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตพญาไท ยืนยันว่า วิธีการวัดของเจ้าพนักงาน จะวัดแนวเขตทางจนถึงแปลงที่ดินโครงการ ตามนิยาม “ ทางสาธารณะและเขตทาง” ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ​“โดยไม่คำนึงถึงสิ่งกีดขวาง” ทั้ง ๆ ที่ตามสภาพตามเป็นจริงยานพาหนะที่สัญจรเข้า-ออกซอย ไม่สามารถขับขี่ผ่านวัตถุเหล่านั้นได้ หรือ สิ่งของเหล่านั้นได้ การวัดระยะความกว้าง จึงไม่ควรนับรวมทรัพย์สินของทางราชการ หรือ ของกรุงเทพมหานคร อาทิ เสาไฟฟ้า ตู้สื่อสาร เข้ารวมด้วย สิ่งกีดขวางเหล่านั้นจะทำให้การอพยพในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉินไม่สามารถทำได้ ถึงเวลาหรือยังที่ต้องหยิบปัญหาค้างท่อที่หมักหมมมานานขึ้นมาแก้ไข ให้สมกับคำว่า กรุงเทพฯ มหานคร เมืองน่าอยู่”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save