แอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” เพิ่มความสะดวกสบายและเป็นช่องทางใหม่ให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ในการรับชำระค่าสินค้า ช่วยเหลือร้านโชห่วย ร้านค้ารายย่อยให้อยู่รอดและมีรายได้เพิ่มขึ้น
จากความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้ารายย่อย กระทรวงพาณิชย์จึงได้ต่อยอดโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐสู่การใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา
กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ทั้งด้านค่าครองชีพ ธุรกิจการค้ารายย่อย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศ ขณะเดียวกันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าทั้งในระดับตลาดชุมชนและภูมิภาคผ่าน ”ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการในการดูแลปากท้องและผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศจำนวน 11.43 ล้านคน สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพและได้ติดตั้งเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ให้กับร้านค้าไปแล้วกว่า 38,000 ร้านค้า จากเป้าหมาย 4 หมื่นร้านค้าในกลางปีนี้
สำหรับผลจากการดำเนินโครงการทำให้ผู้ถือบัตรเข้าถึงและมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมีการกระจายพื้นที่ครอบคลุมการให้บริการ โดยปัจจุบันมีการจ่ายเงินสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ร้านธงฟ้าประชารัฐแล้วกว่า 34,100 ล้านบาท
ล่าสุดมีการต่อยอดเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการใช้แอปพลิเคชันของธนาคารกรุงไทยผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อรับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ แอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” จากเดิมที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าที่มีเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) เท่านั้น
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” จ ะขยายและเปิดโอกาสครอบคลุมร้านค้าเกือบทุกประเภท ทั้งร้านค้ารายย่อย ร้านโชห่วย แผงค้าในตลาดสด รถยนต์เร่ขายสินค้า และร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ โดยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและให้ความช่วยเหลือร้านโชวห่วย ร้านค้ารายย่อยให้อยู่รอดและมีรายได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 20,000 ราย จากเป้าหมายร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 1-2 แสนราย
ทั้งนี้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการจะได้รับประโยชน์และจะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคแ ละร้านค้ารายย่อยสามารถพัฒนาตนเองและอยู่รอด ด้วยความเข้มแข็งสร้างความยั่งยืน ตลอดจนการกระจายความเจริญเข้าสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญ ที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนของประเทศในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก
NNT สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
Post Views:
22