สำนักงานจังหวัดนนทบุรี ร่วมกับ เครือข่ายภาคเอกชนจังหวัดนนทบุรีจัดสัมมนา “ปลดล็อก ยกระดับ ก้าวสู่เมืองน่าอยู่จังหวัดนนทบุรี”
(เมื่อวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2565) ที่ผ่านมา สำนักงานจังหวัดนนทบุรี ร่วมกับ หอการค้าจังหวัดนนทบุรี, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี, ชมรมธนาคารจังหวัดนนทบุรี ,สมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี และคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจนนทบุรี (กต.ตร.นนทบุรี) ร่วมจัดสัมมนา “ปลดล็อก ยกระดับ ก้าวสู่เมืองน่าอยู่จังหวัดนนทบุรี” เพื่อเป็นการขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดนนทบุรีให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนา “จังหวัดนนทบุรี เป็นเมืองน่าอยู่ (Livable City)” เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มุ่งตอบสนองต่อความต้องการและแก้ไขปัญหาที่สำคัญของจังหวัดเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามศักยภาพและโอกาสของจังหวัดนนทบุรี โดยงานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานในพิธี พร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ปลดล็อก ยกระดับ ก้าวสู่เมืองน่าอยู่จังหวัดนนทบุรี” ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ภายในงาน นางระวีพรรณ แก้วเพียงเพ็ญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนนทบุรี ขึ้นกล่าวรายงานการจัดงาน จากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษหัวข้อ “การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย รวมพลังคนรุ่นใหม่ในโมเดลนนทบุรี” โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย ต่อด้วยบรรยายพิเศษหัวข้อ “โอกาสการพัฒนาธุรกิจของไทย เชื่อมนนทบุรีสู่ตลาดโลก” โดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบรรยายพิเศษหัวข้อ “ปลดล็อกสภาพคล่อง เสริมพลังด้านการเงินให้ภาคธุรกิจ” โดย ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย นอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีกมากมายมาร่วมเสวนาในงาน
ดร.สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า “ความสำคัญของการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ต้องเริ่มจากการจัดสรร โดยปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก เรามองว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแกนในการพัฒนาเมืองในภาคของการบริการทั้งหมดเราก็แก้ไขตั้งแต่เรื่องของผังเมืองคือวางโครงสร้างรองรับกับการเติบโตของเมืองส่วนที่ 2 ก็คือการพัฒนามาตรฐานในเรื่องของการจัดสรรบ้าน ซึ่งได้แก้หลายเรื่องตั้งแต่ถนนขนาดเก้าเมตร กล้องวงจรปิด ระบบการระบายน้ำ หรืออะไรต่างๆ เมื่อบ้านมีคุณภาพดีทุกคนก็อยากที่จะมาอยู่อาศัยมากขึ้น คนเป็นผู้เลือกภาคบริการ เพราะฉะนั้นร้านอาหารก็จะโตตามคน ห้างสรรพสินค้า การศึกษา ระบบการสาธารสุขทุกอย่าง ภาครัฐก็จะดูในเรื่องของความน่าจะเป็นในเรื่องของบริการ เช่น เรื่องของอุบัติภัยลดต่ำลง เนื่องจากเราได้แก้ไขอุบัติภัย 26 จุด ปัญหาน้ำท่วมขังทำทุกวันต่อเนื่องการ เช่น การเก็บผักตบทำให้การระบายน้ำต่างๆ สร้างผนังกั้นน้ำเจ้าพระยาทำต่อเนื่องคาดว่าภายใน 7- 8 ปี ผนังกั้นน้ำของเราก็จะสมบูรณ์ และที่สำคัญเราดูแลเรื่องอากาศส่งเสริมการปลูกป่า โดยมีการสร้างป่าเพิ่มขึ้นหลายร้อยไร่ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในส่วนเรื่องของน้ำเสียเราใช้แนวคิดขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เมืองน่าอยู่เราต้องเริ่มจากการตื่นขึ้นมาบ้านตัวเองน่าอยู่ สิ่งแวดล้อมรอบตัวน่าอยู่ ออกจากถนนน่าอยู่และการสื่อสารคมนาคมน่าอยู่ ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมานั้นเราพยายามแก้ไขซึ่งบางอย่างนั้นแก้วันเดียวไม่ได้ แต่นี้คือแนวคิดที่จะขับเคลื่อนมียุทธศาสตร์อะไรบ้างไม่ได้แยกให้ดูร้อยเปอร์เซ็นต์
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย เผยถึงในส่วนของการร่วมมือกับจังหวัดนนทบุรี ในก้าวสู่เมืองน่าอยู่ ว่า “ทางหอการค้าไทยกับจังหวัดนนทบุรีนั้นมีวัฒนธรรมการบริหารที่ดีมากจากรุ่นสู่รุ่น และยังส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ที่เราเรียกว่า Young Entrepreneur Chamber of Commerce (YEC) ถ้าเอาคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นใหญ่มาทำงานในลักษณะเป็นบูรณาการขึ้นมามันจะกลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้สร้างภาระแต่เป็นพลังที่สุดยอด สำหรับทางหอการค้าไทยของนนทบุรี เพราะฉะนั้น โอกาสอะไรต่างๆ คนรุ่นใหม่จะเก่งกว่า ความรู้ดีมีความสามารถ มีพลัง และก็ยังใช้เทคโนโลยีเป็นอีกด้วย ทางหอการค้าไทยไม่ใช่ส่งเสริมเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจในประเทศแบบทั่วถึงระดับโลกเท่านั้น เรายังมีการ ประสานงานกับประเทศจีนอย่างใกล้ชิดช่วยเสริมต่อจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเปิดประเทศซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่เปิดประเทศไปแล้ว 32 ปี หลังจากนั้นเราได้ไปทำ MOU ร่วมมือกับทางสภาหอการค้าซาอุดิอาระเบีย กับ สภาหอการค้าไทย จากนี้ทางซาอุดิอาระเบียก็จะมาลงทุนกับเราและมาเที่ยวประเทศไทยคาดว่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน นับเป็นสัญญาณที่ดีมาก ซึ่งกรงเทพมหานคร กับจังหวัดนนทบุรีอยู่ติดกันอาจจะมีการเชื่อมโยงในเรื่องของการท่องเที่ยว หรือในด้านของการทำอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากราคาที่ดินของนนทบุรียังมีราคาถูกกว่าถ้าเทียบกับประเทศอื่นแล้ว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมได้ตั้งยุทธศาสตร์ที่สำคัญ แบ่งเป็น 2 ส่วน ก็คือ 1.เราดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม ที่เรียกว่า “First industry” ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้เขาอยู่รอด ทำอย่างไรที่จะซื้อเวลาให้เขามากที่สุด เพื่อให้เขาแข็งแกร่งในการที่จะพัฒนาตนเอง ส่วนที่เรามองว่าเป็นอนาคตเรียกว่า “Nextgen industry” คืออุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งเป็นความหวังของเราที่สภาอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.เรื่องของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่เป็น 5.7 ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการเพิ่มมูลค่า เพื่อจะเป็นการขับเคลื่อน GDP ของไทย เพราะว่าที่ผ่านมาเราเติบโตที่เฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังร้อยละ 3 ฉะนั้นเราก็ไม่หลุดพ้นจากกับดักจากที่เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ ถ้าเรายังเติบโตด้วยโมเดลเดิมๆมีแต่ลดลง เพราะฉะนั้นเราต้องมี New Engine ต้องยอมรับว่าเพื่อนบ้านเราค่าแรงถูกกว่าไทยเยอะ และได้เปรียบเรื่องของคนงาน ซึ่งของไทยขาดคนงานเพราะเราเข้าสังคมผู้สูงอายุ 2.PCG โมเดล ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดย 2P เรามองว่าเป็นแสงสว่าง เพราะว่านี่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยเป็นจุดแข็ง เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ที่ผ่านมาเราขายแต่สินค้าวัตถุดิบ แล้วเราแปลรูปหรือเพิ่มมูลค่าได้เฉพาะอาหาร ซึ่งเรากำลังจะเพิ่มเรื่องของยารักษาโรค อาหารเสริม เวชสำอาง และไบโอพลาสติก ซึ่งเรื่องของไบโอพลาสติกเรายังเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่เร็วๆนี้ประเทศไทยจะต้องเป็นที่ 1 ของโลกในการผลิตไบโอพลาสติก และ 3.เรื่องของไบโอเคมีคอล รวมทั้งไบโอเซบีไลท์เซอร์ ก็คือเรื่องของปุ๋ยชีวภาพ รวมถึงไบโอแฟบบริคเส้นใย ตอนนี้เราได้แนวทางแล้วดีไซน์โครงการที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมอัจฉริยะ” แล้วเราจะใช้โครงการนี้กระจายไปทั่วประเทศ ภายใต้นโยบาย 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรม เพราะทุกจังหวัดมีพืชอยู่แล้ว เพียงแต่เราจัดให้เข้ากันกับภาคอุตสาหกรรม เพราะว่าภาคการเกษตรพอทุเรียนราคาดีก็ปลูกกันหมด ส่งออกได้ 1 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งร้อยละ 95 เราส่งออกไปประเทศจีน แต่ถ้าเกิดประเทศจีนไม่เอาเราจะทำอย่างไร แต่วันนี้เรากำลังเอาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ที่เป็นวัตถุดิบในการที่จะแปลรูปสร้างมูลค่าเพิ่มตามเทรนของโลก ที่ต้องการสินค้าทางด้านไบโอและเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน ที่จะไปด้วยกันเพราะเป็นเทรนของโลก”
ด้าน ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เผยถึงในช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาว่า “ทางสมาคมธนาคารฯร่วมกับทางภาครัฐและแบงก์ชาติ ได้ช่วยเหลือทางด้านการเงินผู้ประกอบการและครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ช่วงที่รายได้ขาดหายไป ผู้ประกอบการสามารถทำกิจการอยู่ได้และครัวเรือนมีเงินเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งในระยะข้างหน้าเรามองว่าเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง เรื่องของสภาพคล่องเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจตรงนี้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ ทางธนาคารก็มองเห็นตรงนี้แล้วก็มีการขยายสินเชื่ออย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตรงนี้ก็เรียกว่าไม่ได้มีการขาดแคลนในเรื่องของการให้สินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีสิ่งที่เรามองไประยะข้างหน้าคือ “ในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง” แล้วก็ในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก สิ่งที่ยากที่สุดคือการที่ไม่มีข้อมูล เช่น วันนี้ธุรกิจฟื้นตัวหรือยัง ภาคธุรกิจจะไม่สามารถดึงข้อมูลออกมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะทำให้ยากต่อการที่จะได้รับสินเชื่อที่เหมาะสม ดังนั้นสิ่งที่สมาคมธนาคารฯพยายามผลักดัน ก็คือโครงการที่เรียกว่า “พร้อมบิด” ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโครงการที่ทำให้เอกสารเกี่ยวกับเรื่องการค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางบิลและการจ่ายเงินที่เคยเป็นกระดาษ ซึ่งพอเป็นกระดาษจะไม่เป็นข้อมูลที่แพร่หลายโดยทั่วไป ซึ่งจะทำอย่างไรให้อยู่ในอิเล็กทรอนิกส์ เมื่ออยู่ในรูปของอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้การพิจารณาการปล่อยกู้ต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะกับธนาคารใดธนาคารหนึ่ง แต่กับกลุ่มธนาคารที่อยู่ในองค์กร ทุกคนต้องมีโอกาส ก็แล้วแต่ว่าธนาคารจะพิจารณาให้สินเชื่อด้วยดอกเบี้ยเท่าไร เพราะฉะนั้นจะทำให้สะดวกขึ้นและง่ายขึ้น จากการที่ได้สภาพคล่องตัวนี้ ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่เราเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ประกอบการ”