ระบบสมองกลปัญญาประดิษฐ์แบบใหม่ รู้ว่าใครกำลังคิดจะฆ่าตัวตายด้วยการสแกนสมอง

 

นักวิทยาศาสตร์ได้สอนให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์สามารถระบุได้ว่า คนไหนมีแนวโน้มที่คิดจะฆ่าตัวตายโดยทำการสแกนสมอง แต่ในตอนนี้ยังเป็นเพียงการทดสอบกับกลุ่มคนตัวอย่างจำนวนเล็กๆ แต่ก็เชื่อว่าในอนาคต วิธีการแบบนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในกาารวินิจฉัยสุขภาพจิต

ในแต่ละปีมีจำนวนคนฆ่าตัวตายทั่วโลกกว่าล้านราย และการคาดการณ์ว่าใครมีแนวโน้มที่คิดจะฆ่าตัวตายนั้นไม่ง่ายเลย เพราะคนที่มีความคิดจะฆ่าตัวตายมักจะรู้สึกไม่อยากบอกใคร และในผลการวิจัยที่มีการเผยแพร่ผ่านวารสารด้านวิทยาศาสตร์อย่าง Nature Communications ให้รายละเอียดว่า นักวิจัยได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของสมองในคนวัยผู้ใหญ่ 2 กลุ่ม โดยคนกลุ่มหนึ่งมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย และคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีความคิดนี้ โดยทำการเฝ้าดูพฤติกรรมของสมองเมื่อให้พวกเขา ลองคิดถึงคำว่า “Evil” (ปีศาจ, ความชั่วร้าย) หรือคำว่า “Praise” (การชมเชย) และนำข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะสมองของคนทั้งสองกลุ่ม ไปใช้ในการสอนให้โปรแกรมสามารถทำนายได้ว่าใครมีแนวโน้มที่คิดถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย โดยมีความแม่นยำถึง 91% และยังสามารถบอกได้อีกด้วยว่าใครเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน โดยมีความแม่นยำถึง 94%

โดยคุณ Marcel Just ผู้เขียนรายงานการวิจัย และเป็นนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “อัลกอริทึ่มของโปรแกรมที่ใช้ในการประมวลผลยังไม่สมบูรณ์แบบ และยังคงต้องมีการทดสอบทางการแพทย์ควบคู่กันไป และวิธีการนี้คงยังไม่ได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เพราะการสแกนสมองมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่มันก็เหมาะที่จะเป็นวิธีการเสริมในการตรวจสอบว่าใครมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย”

มีอาสาสมัคร 34 คนที่เข้าร่วมในการวิจัย โดย 17 คนมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และอีก 17 คนไม่มีความคิดนี้ อาสาสมัครต้องทำการอ่านคำที่มีความในแง่ลบ และแง่บวก 30 คำ อย่างเช่น “Bliss” (ความสุข) และ “Cruelty” (ความโหดร้าย ทารุณ) และคำที่เกี่ยวกับความตายอย่าง “Suicide” (การฆ่าตัวตาย) และทำการคิดใคร่ครวญถึงความหมายของคำเหล่านั้น ในขณะที่ทำการสแกนสมอง (หรือที่เรียกว่าการทำ fMRI เป็นการตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของกระแสเลือดในสมอง)

นักวิจัยพบว่า คำหกคำที่สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจนระหว่างคนที่คิดอยากฆ่าตัวตาย และคนที่ไม่คิดอยากฆ่าตัวตาย ได้แก่คำว่า  “Death” (ความตาย) “Trouble” (ปัญหา) “Carefree” (ไร้ความกังวล) “Good” (ดี) “Praise” (การชมเชย) และ “Cruelty” (ความโหดร้าย ทารุณ) และมีการนำผลการตรวจสอบพฤติกรรมของสมองที่มีต่อคำเหล่านี้ไปสอนระบบโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ โดยมีการบอกมันด้วยว่าพฤติกรรมของสมองแต่ละแบบมาจากคนกลุ่มใด เมื่อระบบปัญญาประดิษฐ์ได้รับการสอนเรียบร้อยแล้ว ก็มีการลองทดสอบโดยการเลือกสุ่มคนในกลุ่มตัวอย่างมา 1 คน แล้วเอาผลการสแกนสมองมาให้โปรแกรมลองทำนายดูว่า เขาอยู่ในคนกลุ่มไหน (มี หรือไม่มีความคิดว่าจะฆ่าตัวตาย) ซึ่งผลการทำนายออกมาแม่นยำถึง 91% เลยทีเดียว และในการทดลองครั้งที่ 2 นักวิจัยได้ใช้วิธีการเดียวกันในการสอนให้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์สามารถแยกแยะคนที่มีความคิดจะฆ่าตัวตาย กับคนที่ไม่เคยมีความคิดแบบนี้ออกจากกัน และในครั้งนี้ การทำนายมีความแม่นยำเพิ่มขึ้นเป็น 94%

โดยคุณ Blake Richards นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Toronto ประเทศแคนาดา กล่าวว่า “ผลกาารวิจัยนี้มันก็น่าสนใจดี แต่ก็ยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค จริงอยู่ที่ว่าผลการทดสอบออกมาค่อนข้างจะแม่นยำ แต่สิ่งที่จะมาแทนเครื่องมือ หรือวิธีการตรวจสอบทางการแพทย์แบบดั้งเดิมนั้น แค่ค่อนข้างจะแม่นยำ มันยังไม่พอ แต่มันต้องสมบูรณ์แบบเท่านั้น”

และด้วยความที่การทดสอบในช่วงเวลานี้ยังทำกับกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก แต่ในอนาคตทางทีมงานวิจัยก็หวังว่า ระบบโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์นี้จะได้นำไปใช้งานจริง ในการวินิจฉัยว่าใครที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือใช้วินิจฉัยโรคทางจิตเวชอื่นๆ และเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย ต้องมีการทดสอบและเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างในจำนวนที่มากขึ้น รวมถึงการทดสอบกับกลุ่มคนที่เคยได้รับการบำบัดทางจิตเวชมาแล้วด้วย

 

ที่มา – news.thaiware.com , theverge

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save