ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ วางอนาคต ท่องเที่ยว 2022 Amazing Thailand new chapter
นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หนึ่งในผู้เสวนา BOOST UP THAILAND จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง ซึ่งผู้ฟังจะได้รับรู้ถึงอนาคตภาคท่องเที่ยว หลังจากที่ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน และโจทย์ประเทศ 2565
หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และเป็นผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงต่ำ 46 ประเทศ โดยแนวทางที่จะเดินตามต่อไปคือ การอันล็อกไทยแลนด์ เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขหรือมาตรการต่างๆ ที่ยังเป็นข้อจำกัดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในตลาดระยะใกล้ หรือตลาดเอเชียเป็นหลัก เนื่องจากการดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ขณะนี้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวผ่านภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เกือบ 6 หมื่นคนนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวในตลาดระยะไกลเป็นหลัก อาทิ สหรัฐ ยุโรป แต่ตลาดระยะใกล้ ยังไม่ค่อยเห็นมากนักแม้จะมีระยะการเดินทางที่ใกล้กว่าก็ตาม
การเดินหน้าทำตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ นับจากนี้จนถึงปี 2565 เริ่มจากการชูนโยบายอันล็อกไทยแลนด์ ที่เห็นประกาศต่างๆ ของทางรัฐบาลที่มีการผ่อนคลายมาตรการสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทย อาทิ การประกาศลดจำนวนวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 การประกาศศูนย์ปฏิบัติการมาตรการการเดินทางเข้า-ออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (ศปก.กต.) ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2564 อนุมัติประเทศหรือพื้นที่ 46 แห่ง ที่เดินทางมายังประเทศไทยตามเงื่อนไขในการงดเว้นการกักตัว และการจำกัดพื้นที่เดินทางท่องเที่ยว
โดยท่าทีของรัฐบาลที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทย สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ เนื่องจากพื้นที่ตลาดระยะใกล้มีระยะวันพำนักสั้น หรือวันพักค้างคืนในการท่องเที่ยวไม่มาก แบ่งเป็นตลาดอาเซียน มีระยะวันพำนักเฉลี่ย 4 วัน ตลาดเอเชีย เฉลี่ย 5-7 วัน ตลาดโอเชียเนีย เฉลี่ย 10 วัน
รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แล้ว ประเทศต้นทางหลายแห่งยังมีข้อจำกัดบางเรื่อง อาทิ จีน ที่มีมาตรการห้ามการขายทัวร์ต่างประเทศ และรัฐบาลเข้มงวดเรื่องการเดินทางออกโดยวีซ่าประเภทท่องเที่ยว (ทีอาร์) วีซ่า และวีซ่าท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (เอสทีวี) โดยเฉพาะประเทศต้นทางหลักๆ ที่มุ่งเน้นในการทำตลาด ได้แก่ เกาหลี ยังไม่มีเที่ยวบินตรงเข้าพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ญี่ปุ่น ยังไม่มีเที่ยวบินตรงเข้าแซนด์บ็อกซ์ และประเทศไทยยังเป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูงสำหรับญี่ปุ่น ทำให้ไม่สามารถขายทัวร์ หรือซื้อประกันการเดินทางได้ ฮ่องกง ยังนับประเทศไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง และเมื่อเดินทางกลับสู่ประเทศต้นทาง ต้องกักตัว 21+7 วัน อินเดีย ไม่มีเที่ยวบินตรงเข้าไทย โดยประเทศอินเดียจะอนุญาตให้ทางการบินเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศกับประเทศที่มีการทำข้อตกลงจับคู่เดินทางระหว่างกัน (แอร์ แทรเวล บับเบิล) กับอินเดียเท่านั้น สิงคโปร์ ประเทศไทยยังเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงสูง และเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางกลับเข้าสิงคโปร์จะต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วัน ในสถานที่ที่กำหนด โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 35,000-40,000 บาท ลาว เดินทางกลับเข้าประเทศต้นทาง ต้องกักตัว 14 วัน และกัมพูชา เดินทางกลับเข้าประเทศต้นทางต้องกักตัว 7 วัน
ขณะนี้ได้ศึกษาข้อมูลสถานการณ์ประเทศต้นทางในตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ พร้อมมองหาโอกาสและจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ของแต่ละตลาด โดยพิจารณาจากข้อจำกัด มาตรการ และนโยบายของแต่ละประเทศว่า ตลาดใดที่มีความพร้อมเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้ก่อน
โดย ททท.ได้กำหนดทิศทาง การดำเนินงานด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ภายใต้แผนอันล็อกไทยแลนด์ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ
โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 Now หรือการเริ่มทำทันที ในพื้นที่ที่มีโอกาสสูงและดำเนินการได้ทันที ซึ่งเป็นประเทศในรายชื่อ 46 ประเทศ หรือพื้นที่ตามประกาศของ ศปก.กต. ซึ่งมีประเทศหรือพื้นที่ภายใต้ความรับผิดชอบของตลาดระยะใกล้ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย ภูฏาน บรูไน กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง
ระยะที่ 2 Soon หรือพื้นที่ที่มีโอกาสสูง แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางจากประเทศต้นทาง อาทิ อินเดีย ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม
และ ระยะที่ 3 Later หรือพื้นที่ที่รอก่อน แต่มีศักยภาพ แม้มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางจากประเทศต้นทางอย่างเข้มงวด เป็นประเทศหรือเขตพื้นที่ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง อาทิ ไต้หวัน บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา มัลดีฟส์ เนปาล
ปัญหาในการทำตลาดการท่องเที่ยวประเทศไทย ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาเรื่องความต้องการ (ดีมานด์) ในการเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากมีดีมานด์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
แต่ปัญหาหลักเกิดจากซัพพลายไซด์ในประเทศเองมากกว่า ที่พยายามแก้กันมาตลอด ซึ่งการเข้ามาของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชอร์ตไปหมด แต่ถือว่าทำให้เราได้พักฟื้น ตั้งสติและแก้ปัญหากันใหม่
การยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น แม้ประเทศไทยจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังวิกฤตการระบาดโควิด-19 ซึ่งคาดว่าประเทศคู่แข่งขันต่างเตรียมพร้อมที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งทางตลาดการท่องเที่ยวในช่วงเริ่มต้นนี้อย่างแน่นอน
ทำให้ประเทศไทยที่ได้ดำเนินการเสริมสร้างจุดแข็ง และใช้โอกาสที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเข้าสู่การพักฟื้นไปแล้ว มาเร่งยกระดับในเรื่องต่างๆ เพื่อเสริมให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้
โดยการยกระดับการท่องเที่ยวไทย จะมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างสุขอนามัยที่ดี 2.ความปลอดภัย และ 3.สิ่งแวดล้อม
ในบทบาทของ ททท. ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ใช้ช่วงที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพักฟื้นนี้ มาเริ่มดำเนินการร่วมกับพื้นที่นำร่องสำหรับการเปิดประเทศแล้ว
โดยพื้นที่ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้น จะต้องมีแผนการพัฒนาเมืองพร้อมแผนบริหารความเสี่ยงควบคู่ไปกับการเปิดรับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้มีความมั่นใจต่อการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัย มีมาตรฐานและมาตรการด้านสาธารณสุข รวมถึงมีสมดุลระหว่างมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ทั้งการสร้างสุขอนามัยที่ดีมีความปลอดภัย และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ได้ถูกวางแผนในการปรับปรุงไว้แล้ว โดยเฉพาะในจังหวัดที่เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากการพิจารณาความพร้อมของแต่ละจังหวัด จะต้องจัดทำที่ต้องได้คะแนนเกิน 80 คะแนนขึ้นไป จึงจะสามารถผ่านการพิจารณาว่ามีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวได้จริง อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ จัดทำแผนงานได้คะแนนกว่า 81 คะแนน
ททท.มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าร่วมกับพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนต่อไปเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการบูรณาการ และการทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับเรื่องความปลอดภัย และมาตรการด้านสาธารณสุข คุณภาพของสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐาน ร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการท่องเที่ยวทัดเทียมกับประเทศคู่แข่ง และเพื่อจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
วิกฤตการระบาดโควิด-19 ถือเป็นสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิดและไม่ต้องการให้เกิดขึ้น จึงต้องพยายามเรียนรู้และสรุปบทเรียน เพื่อสร้างโอกาสจากวิกฤตนั้นให้ได้ โดยการปรับโฉมท่องเที่ยวไทยรูปแบบใหม่ ต่อจากนี้นั้นถือเป็นโอกาสในการยกระดับพัฒนาซัพพลายเชนให้มีคุณภาพและศักยภาพยิ่งขึ้น จากการเพิ่มทักษะให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ ทั้งเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างคุณค่าและเอกลักษณะให้โดดเด่นในตลาด เป็นโอกาสที่จะคัดกรองกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพ และเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบน โอกาสที่จะได้ปลูกฝังและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) และสร้างกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เนื่องจากระหว่างที่ทำงานที่บ้านได้ ก็ช่วยให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวอย่างสวยงามด้วย
นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสที่มนุษย์จะได้ปรับตัวสู่วิถีใหม่ (นิว นอร์มอล) คำนึงถึงเรื่องสุขภาพ สุขอนามัย และความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจจะปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้บริการ เพื่อลดการใช้พลังงานและให้ความสำคัญกับสังคมไร้เงินสด เพื่อลดความเสี่ยงโควิด-19 และเพิ่มความปลอดภัยในระบบการเงินและเศรษฐกิจ
รวมถึงโอกาสที่ได้เห็นถึงความร่วมมือกันของหน่วยงานทั่วโลกในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วย การจัดสรรและแบ่งปันวัคซีน การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อวิจัยวัคซีน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโลกให้ก้าวไปพร้อมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นโอกาสและจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน และสมดุลต่อไป
การเปลี่ยนแปลงที่จะจับต้องได้ในปี 2565 ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เข้าสู่การท่องเที่ยวแบบนิว นอร์มอล ซึ่งคาดว่าการแข่งขันทางการตลาดจะสูงขึ้น ทำให้เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในการปรับเปลี่ยนโมเดลในทางธุรกิจใหม่ ปรับกลุ่มเป้าหมายเชิงปริมาณเป็นเชิงคุณภาพ และอาจต้องหันมาสนใจทำตลาดระยะสั้น หรือตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ และยกระดับการให้บริการ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ส่วนใหญ่ใช้งานออนไลน์เป็นหลัก การพัฒนาทักษะของบุคลากรในธุรกิจ รักษาและยกระดับคุณภาพของบริการและความได้เปรียบในการแข่งขันให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัย รวมถึงการปรับสู่สมดุลทางธุรกิจใหม่ เข้ากับการท่องเที่ยวแบบนิว นอร์มอล วางแผนบริหารความเสี่ยง เพื่อให้พร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจในทุกรูปแบบทุกสถานการณ์
และสิ่งสำคัญคือ การนำปัจจัยด้านสุขอนามัยมาเป็นส่วนสำคัญในแผนการตลาดของธุรกิจ หรือแผนบริหารความเสี่ยงต่อไป
สิ่งที่เราจะเห็นอย่างชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้คือ เราจะไม่เห็นการเข้ามาเที่ยวประเทศไทยแบบล้นทะลักของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบช่วงที่ผ่านมาอีกแล้ว
แต่การท่องเที่ยวต่อจากนี้ จะเน้นเข้ามาเป็นกลุ่มขนาดเล็ก เที่ยวแบบครอบครัว กับเพื่อน ไม่นิยมมาเที่ยวแบบกลุ่มทัวร์ขนาดใหญ่เหมือนภาพที่เคยเห็น จำนวนรถทัวร์นำเที่ยวจอดตามแหล่งท่องเที่ยวจำนวนหลายคันต่อวัน มาเที่ยวกันเป็นกลุ่มหลายร้อยคน หรือไกด์นำเที่ยวต้องถือธงแดงเพื่อนำเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่ ตามแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากต่างชาติ เชื่อว่าเราจะไม่เห็นภาพแบบนั้นอีกแล้วในปี 2565 นี้
ยกตัวอย่าง ขณะนี้เราได้ทำการอันล็อกให้กับประเทศเกาหลี และบุกทำการตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบกีฬากอล์ฟ ทำให้วันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ จะมีเที่ยวบินตรงจากเกาหลีเข้าท่าอากาศยานเชียงใหม่ เที่ยวแรกจำนวนประมาณ 80 คน ที่เป็นนักกอล์ฟทั้งหมด ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงมากจริงๆ ใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 3 เท่า ซึ่งนักท่องเที่ยวปกติจะใช้จ่ายเงินต่อวัน 5,000-10,000 บาท
นอกจากนี้ สิ่งที่จะเห็นต่อไป เรียกว่า อะเมซิ่งไทยแลนด์นิวแชปเตอร์ (Amazing Thailand new chapter) หรือการนำเสนอภาพใหม่ของการท่องเที่ยวไทย อาทิ การวางภาพท่องเที่ยวไทยให้เป็นห้องทำงานที่สวยที่สุดในโลก เนื่องจากตอนนี้เราสามารถทำงานที่ใดก็ได้ ขอเพียงมีอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ซึ่งกลุ่มคนที่สามารถทำงานนอกห้องทำงานมีจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การที่ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถนั่งทำงานไปด้วยได้จำนวนมาก อาทิ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร
รวมถึงจากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยได้รับการโหวตให้เป็นเมืองที่ได้รับตำแหน่งในการเป็นสถานที่ที่สามารถทำงานและท่องเที่ยวได้ด้วยอย่างดีเยี่ยมถึง 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต ถือเป็นการทำตลาดรูปแบบใหม่ต่อจากนี้
การเสวนา BOOST UP THAILAND 2022 จัดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 อีกครั้งที่จัดในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชน ก้าวสู่ปีที่ 44 สะท้อนประเทศไทยไปต่อ โดยจัดในรูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง ผ่าน Facebook : Matichon Online, Prachachat, Khaosod, YouTube : matichon tv, Matichon Online, Line Official : @Matichon, Tiktok : @matichononline
เวลา 09.00-12.00 น. ในการเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Boost Up ทุบโจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย” จากนั้น นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษ เรื่อง “พลิกธุรกิจ สู้เศรษฐกิจหลังโควิด” ต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) สนทนาพิเศษเรื่อง “มุมมองเอกชน…อนาคตธุรกิจ 2022” มี นายสรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์และพิธีกรชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินรายการ
หลังจากการสนทนาพิเศษจบลง ได้มีการเสวนาเรื่อง “เดินหน้า ทะลุโจทย์ประเทศ 2022” ต่อ โดยมี นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมเสวนา มี นายบัญชา ชุมชัยเวทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ขอบคุณข้อมูลจาก : มติชน ออนไลน์