โดรนขนส่งตัวอย่างเลือด ความหวังใหม่ของการแพทย์ทางไกล
โดรนลำใหญ่ที่บรรจุตัวอย่างเลือดของมนุษย์แช่เย็น ประสบความสำเร็จในการทดสอบบินข้ามทะเลทรายในรัฐ Arizona ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระยะทางกว่า 160 ไมล์ (ประมาณ 257 กิโลเมตร)
เป็นการทำลายสถิติในหัวข้อ การขนส่งตัวอย่างทางชีวภาพด้วยพาหนะแบบไร้คนขับ และตัวอย่างเลือดยังอยู่ในสภาพดีหลังจากที่ผ่านการบินมาเป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง ความสำเร็จนี้เป็นการแสดงให้เห็นบทบาทใหม่ของโดรน ในฐานะที่เป็นเครื่องมือช่วยยกระดับบริการทางการแพทย์ในระยะทางไกล หรือการให้บริการทางการแพทย์ในถิ่นทุรกันดาร และสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้
สำหรับผู้คนที่อาศัย หรือไปทำงานในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกลจากชุมชน การที่จะเดินทางไปหาหมอนั้นก็มีความท้าทายเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงมีการบุกเบิกนำโดรนมาใช้ในภารกิจทางด้านการแพทย์ อย่างเช่นการใช้โดรนขนส่งยารักษาโรค รวมถึงการใช้โดรนเพื่อการขนส่งตัวอย่างเลือด โดยมีบางบริษัทอย่างเช่น Zipline ที่ได้นำโดรนมาใช้ทางการแพทย์เป็นเวลา 2-3 ปีมาแล้ว โดยเป็นการใช้โดรนขนส่งเลือด เพื่อใช้ในการเปลี่ยนถ่ายให้ผู้ป่วยในประเทศ Rwanda และ Tanzania
เมื่อเทคโนโลยีโดรนมีการใช้งานอย่างกว้างขวางขึ้น นักวิจัยต้องการทดสอบเพื่อให้มั่นใจว่า ตัวอย่างเลือดจะไม่เสื่อมสภาพเมื่อทำการขนส่งด้วยโดรน เนื่องจากระบบการขับเคลื่อนของโดรน จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับตัวอย่างเลือดพอควร หรือไม่ตัวอย่างเลือดก็อาจเสื่อมด้วยสภาพอากาศที่ร้อน โดยการทดสอบในเบื้องต้น พบว่าโดรนสามารถขนส่งตัวอย่างเลือดได้โดยที่ไม่มีการเสื่อมสภาพ
ศาสตราจารย์ทางด้านพยาธิวิทยา แห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins อย่างคุณ Timothy Amukele ได้ทำการเก็บตัวอย่างเลือดจาก 21 คน และทำการลองขนส่งตัวอย่างเลือดจำนวนครึ่งหนึ่งด้วยโดรน ในระยะการบิน 3 ชั่วโมง ผ่านสภาพอากาศที่ร้อนของทะเลทราย Arizona (โดยที่ตัวอย่างเลือดอีกครึ่งหนึ่ง ถูกขนส่งด้วยรถที่มีระบบปรับอากาศ เพื่อเปรียบเทียบกัน) และโดรนที่ใช้ในการขนส่งตัวอย่างเลือด มีลักษณะเป็นลูกครึ่งระหว่างเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบิน คือสามารถบินขึ้นลงในแนวดิ่ง และสามารถบินร่อนแบบเครื่องบิน เพื่อให้ได้ระยะการเดินทางที่ไกลกว่าโดรนรูปแบบปกติ นักวิจัยได้ติดตั้งกล่องโฟมทำความเย็น เพื่อใช้เก็บรักษาตัวอย่างเลือด โดยระบบทำความเย็นใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ และสามารถรักษาอุณหภูมิที่ระดับ 75 องศาฟาเรนไฮต์ (23 องศาเซลเซียส) ซึ่งอุณหภูมิต่ำกว่าสภาพอากาศภายนอก 15 องศา
เมื่อโดรนถึงที่หมาย ทีมวิจัยได้ทำการทดสอบ 19 ตัวอย่างเลือด ตรวจนับจำนวนเซลล์ วัดระดับ โซเดียม และคาร์บอนไดออกไซด์ และได้ทำการเปรียบเทียบตัวอย่างเลือดที่ขนส่งด้วยโดรน กับตัวอย่างเลือดที่ขนส่งด้วยรถ เพื่อตรวจสอบว่าการขนส่งทางอากาศ ส่งผลเสียต่อตัวอย่างเลือดหรือไม่
ผลออกมาว่า ตัวอย่างเลือดที่ขนส่งด้วยโดรนนั้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก มีเพียง 2 ตัวอย่างเลือด ที่ตรวจพบความแตกต่างระหว่างการจขนส่ง 2 รูปแบบ ซึ่งความแตกต่างนั้นเกิดขึ้นกับระดับของ กลูโคส และ โปแตสเซี่ยม แต่นักวิจัยก็ได้ให้ข้อสังเกตว่า ตัวอย่างเลือดที่ขนส่งด้วยรถนั้นถูกจัดเก็บอยู่ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 4 องศา ทำให้ตัวอย่างเลือดเสื่อมสภาพจากความร้อน และผลการวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร American Journal of Clinical Pathology
และก่อนที่โดรนจะถูกนำไปใช้งานจริง ในภารกิจการขนส่งตัวอย่างเลือดในระยะทางไกลกว่านี้ ทีมวิจัยต้องทำการทดสอบบินอีกหลายเที่ยว รวมถึงต้องใช้ตัวอย่างเลือดจากคนที่มีปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งพวกเขาไม่ได้แข็งแรงดีเหมือนอย่างอาสาสมัครที่บริจาคเลือดเพื่อการทดสอบในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าการขนส่งตัวอย่างเลือดด้วยโดรน จะส่งผลกระทบระดับ กลูโคส ในเลือดอย่างค่อนข้างมาก และก็มีเรื่องที่ต้องกังวลคือ หากโดรนที่ขนส่งตัวอย่างเลือด (ซึ่งอาจมีเชื้อโรคบางอย่างในเลือด) ไปเกิดอุบัติเหตุตกอยู่ที่ใด ก็อาจจะเป็นอันตรายกับคนที่อยู่แถวๆ นั้นได้ ดังนั้นการใช้โดรนเพื่อขนส่งวัตถุทางการแพทย์ จึงต้องมีการออกกฎข้อบังคับมาควบคุม ผู้บังคับโดรนต้องมีใบอนุญาต และต้องใช้เส้นทางบินที่ปลอดภัยห่างไกลจากเขตชุมชน
ยังมีงานอีกมากมายรออยู่ข้างหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีโดรนมีความปลอดภัยมากพอที่จะนำมาใช้ทางการแพทย์ แต่จากผลการทดสอบที่ออกมาในเบื้องต้น ก็ต้องบอกว่าเทคโนโลยีนี้มีอนาคตที่สดใสมากเลยทีเดียว
ที่มา – news.thaiware.com , theverge