ปวดหัวไมเกรน เกิดจากอะไร??
อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนนั้น มีลักษณะค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ มักจะปวดบริเวณขมับโดยอาจจะปวดข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ และมักจะปวดข้างเดิมอยู่ซ้ำ ๆ ส่วนอีกบริเวณหนึ่งที่พบมาก ได้แก่ บริเวณเบ้าตา ลักษณะของการปวด ก็มักจะปวดตุ้บๆ ตามจังหวะของชีพจร บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
สาเหตุโรคไมเกรน
- ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ช่วงมีประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ ช่วงหมดประจำเดือน หรือการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
- อาหารบางชนิด เช่น ชีส ไวน์แดง ช็อคโกแล็ต น้ำตาลเทียม ผงชูรส ชา และกาแฟ
- การกระตุ้นทางประสาทสัมผัส เช่น แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน กลิ่นบุหรี่
- รูปแบบการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนดึก นอนไม่พอ หรือนอนมากเกินไป
- สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน ฝุ่นควัน
- ยาบางชนิด
อาการโรคไมเกรน
- ปวดศีรษะครึ่งซีก อาจเป็นบริเวณขมับหรือท้ายทอยแต่บางครั้งก็อาจเป็นสองข้างพร้อมกันหรือสลับข้างกันได้
- ลักษณะการปวดศีรษะส่วนมากมักจะปวดตุ๊บ ๆ นานครั้งหนึ่งเกิน 20 นาที ผู้ป่วยบางรายอาจมีปวดตื้อ ๆ สลับกับปวดตุ๊บ ๆ ในสมองก็ได้
- อาการปวดศีรษะมักเป็นรุนแรง และส่วนมากจะคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วยเสมอ โดยอาจเป็นขณะปวดศีรษะก่อนหรือหลังปวดศีรษะก็ได้
- อาการนำจะเป็นอาการทางสายตาโดยจะมีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะราว 10-20 นาที เช่น เห็นแสงเป็นเส้น ๆ ระยิบระยับ แสงจ้าสะท้อน หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวก่อนปวด
แม้ว่าอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนจะรักษาไม่หาย แต่ผู้ป่วยก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทา และลดความถี่ในการถูกกระตุ้นจนเกิดอาการปวดได้โดยปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นไมเกรน ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่บางคนอาจมีปัจจัยกระตุ้นอื่นอีกได้ ทางที่ดี ควรหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี รวมทั้งพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นนั้น ๆ
- นอนหลับให้เพียงพอ แต่อย่าให้มากเกินไป ผู้ใหญ่โดยทั่วไปควรนอนให้ได้ประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน
- หยุดพักเมื่อมีอาการ ถ้าเป็นไปได้ควรพยายามพักผ่อนในห้องเงียบ ๆ มืด ๆ ร่วมกับการประคบเย็นบริเวณต้นคอ พร้อมกับนวดบริเวณที่ปวดก็จะช่วยบรรเทาอาการได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายโดยรวมแข็งแรง และลดความเครียดซึ่งอาจจะช่วยลดความถี่ของการปวดได้
- จดบันทึกอาการของคุณ บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับความปวด อาทิ วัน เวลา ระยะเวลา ลักษณะอาการปวด อาหารที่รับประทาน รวมถึงความผิดปกติต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับอาการของคุณเลย
SOURCE : https://www.bumrungrad.com/th/betterhealth/2552/brain-healthy/living-with-migraines
Image : 108Health