นภินทรเคลียร์ชัด! รับลูกข้อกังวลสภาอุตฯ เดินหน้าจัดการสินค้าไร้มาตรฐานและธุรกิจนอมินี
นภินทรเคลียร์ชัด! รับลูกข้อกังวลสภาอุตฯ เดินหน้าจัดการสินค้าไร้มาตรฐานและธุรกิจนอมินี พร้อมตั้งชุดทำงานเฉพาะกิจลงพื้นที่จัดการผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย เน้นย้ำคุมเข้มทั้งออนไลน์และออฟไลน์

รมช.นภินทร นั่งหัวโต๊ะประธานประชุมเกาะติดความคืบหน้าการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ การประชุมครั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้รับข้อเสนอแนะจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 4 ประเด็น คือ แนวทางการแก้ไขมาตรฐานสินค้า มาตรฐานการค้า พิธีศุลกากร/ช่องทางการนำเข้า และส่งเสริมการลงทุนในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีเสียงจากภาคเอกชนที่เสนอให้สินค้าเสื้อผ้าเด็กต้องติดฉลากเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอและเร่งดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ยังได้ตั้งคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อกระชับการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการกระทำผิดของธุรกิจที่ขายสินค้าไม่มีคุณภาพและเข้ามาทำธุรกิจอย่างผิดกฎหมาย

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมครั้งที่ 3 ร่วมกับ 20 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่า ในวันนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้หารือร่วมกัน ถึงปัญหาการนำเข้าสินค้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อม ที่สำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้รับข้อเสนอด้านการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ด้านมาตรฐานสินค้าและการดำเนินธุรกิจ โดยขอให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดในการใช้กฎหมายฉลากสินค้าและมาตรฐาน การกำกับดูแลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และพิจารณามาตรการสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศ ด้านการขยายอายุใบอนุญาต การพัฒนาห้องทดสอบในประเทศ และการใช้กลไก Standard Developing Organizations (SDOs) 2) ด้านมาตรการทางการค้า ทั้งการอำนวยความสะดวกการเข้าถึงมาตรการตอบโต้ทางการค้า และทบทวนอัตราภาษี 3) ด้านพิธีการศุลกากรและช่องทางการนำเข้า โดยขอให้เข้มงวดกับการกำกับดูแลสินค้านำเข้า และ 4) ด้านการส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะการพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษี การปรับเพิ่มแต้มต่อการจัดซื้อจัดจ้าง และขยายตลาดให้ภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากภาคเอกชนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนับสนุนให้มีการติดฉลากสินค้าเสื้อผ้าเด็ก ทั้งสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วย
รมช.นภินทร กล่าวต่อว่า “จากข้อเสนอแนะดังกล่าวตนรู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้รับเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งสินค้าคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยคณะอนุกรรมการฯ จะเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายให้พิจารณาผลักดันการดำเนินการในด้านต่างๆ ตามที่ ส.อ.ท. เสนอให้มีความเข้มข้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอไปดำเนินการทั้งในด้านการเข้มงวดกฎหมายสำหรับมาตรฐานสินค้าและการนำเข้าสินค้า การสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคถึงการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ และการสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในด้านต่างๆ นอกจากนี้ สิ่งที่ถือเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับการประชุมในวันนี้ คือ การจัดตั้งคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำทีมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและป้องปรามธุรกิจนอมินีอย่างเข้มข้นและเด็ดขาดไปพร้อมกัน

สำหรับข้อเสนอจากภาคเอกชนประเด็นการติดฉลากเสื้อผ้าเด็กเพื่อความปลอดภัยและคุ้มครองผู้บริโภคจากความเสี่ยงด้านการสวมใส่เสื้อผ้าที่อาจระคายเคืองได้ กระทรวงฯ ขอให้ผู้ประกอบการไทยติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดถึงแนวทางการปรับตัว เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางดำเนินการโดยคำนึงถึงผู้บริโภคและผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยเป็นสำคัญ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อร่วมกันกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ถูกต้องต่อไป


การประชุมในวันนี้ถือเป็นนัดแรกในปี 2568 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของหน่วยงานต่างๆ
ต่อการแก้ไขปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงการที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะถือเป็นความเห็นสำคัญที่จะทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะรวบรวมแนวทางการดำเนินการและเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายพิจารณาต่อไปควบคู่กับจะผลักดันความร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ให้มีคุณภาพมาตรฐานด้วย ดังนั้น จึงอยากขอให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการชาวไทยไว้วางใจว่าภาครัฐกำลังดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐานดังกล่าว รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ในเวทีโลกต่อไป” รมช.นภินทร กล่าวทิ้งท้าย
#SuperDBD #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์