‘ธงชาติไทยโบกปลิวไสว ผลผลิตจากต้นไม้ของพ่อ’ เด็กอาชีวะไทยเจ๋ง โชว์ฝีมือคว้า 14 รางวัล จากเวที World Skills 2017 ณ เมือง Abu Dhabi
“ไม่เคยคิดฝันมาก่อน ว่าตัวเราจะมาอยู่ตรงนี้ จะมาได้ไกลถึงขนาดนี้ได้”
นี่คือคำพูดของเด็กเยาวชนเกือบทุกคนที่เป็นตัวแทนจากประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 44 (World Skill Abu Dhabi 2017) ณ รัฐ อาบูดาบี ประเทศสหรัฐ อาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 19 ตุลาคมที่ผ่านมานี้
World Skill เวทีประกวดงานฝีมือระดับโลก
เป็นเวทีประกวดที่จัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดยองค์กร World Skills International โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและมาตรฐานการปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการขัดแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1950 ณ กรุงแมดริด ประเทศสเปน และมีการจัดแข่งขันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประกวดมากถึง 77 ประเทศจากทั่วโลก
โดยรูปแบบการทดสอบ World Skills ทุกสาขานั้นถูกจัดทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งมาจากภาคอุตสาหกรรมชั้นนำต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก ซึ่งเนื้อหาของการทดสอบนั้นจะสะท้อนถึงเทคโนโลยีล่าสุดและความต้องการทักษะแรงงานของตลาดโลก โดยในปีล่าสุดนี้มีหมวดการแข่งขันทั้งหมด 52 สาขาด้วยกัน และมีเยาวชนจำนวน 1,258 คนจาก 61 ประเทศที่เข้าร่วมประกวดในปีนี้
26 เยาวชนไทย ความหวังของชาติ กับ 24 หมวดการแข่งขันที่ต้องฝ่าฟัน
ในงานประกวด World Skills 2017 นี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้จัดส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 26 คน ใน 24 สาขา เข้าร่วมการแข่งขันในระหว่างวันที่ 15 – 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยในจำนวน 26 คนนั้น มีอยู่ 2 คนที่เป็นนักเรียนทุนจากโครงการ “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” จากมูลนิธิเอสซีจี เข้าร่วมแข่งขันโชว์ศักยภาพ ได้แก่ นายปราโมทย์ การัมย์ (ป้อม) ในสาขาจัดดอกไม้ และนายพงศกร พราหมเกษม (แจ็ค) ในสาขาการก่ออิฐ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการฯและแคมเปญล่าสุดได้ ที่นี่)
งานฝีมือที่ดี ต้องมีการเตรียมตัวที่ดี ต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อและแรงกายแรงใจ
“เครียดมากครับ แทบจะไม่ได้กิน ไม่ได้นอนเลยครับ กินก็ไม่อร่อย นอนก็ไม่ค่อยหลับ”
นี่คือหนึ่งในคำพูดของน้องป้อมเยาวชนที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยในสาขาการจัดดอกไม้ เมื่อทางสื่อถามถึงความเครียดในช่วง 4 วันของการแข่งขันที่ผ่านมา แต่ว่าเด็กหนุ่มก็เล่าต่อด้วยท่าทีที่สบายใจว่า “แต่ว่าโชคดีครับ ที่พอทำงานออกมาได้ตามที่คิดหมดเลย คิดแบบไหนก็ออกมาแบบนั้นหมดเลย”
จากการสอบถามเยาวชนผู้เข้าแข่งขันในหลากหลายสาขารประกวด เราพบว่า ก่อนที่จะมาประกวด ณ เวทีนี้ ผู้เข้าร่วมแข่งขันนั้นได้ผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง และต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 6 เดือนด้วยกัน อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับเยาวชนคนอื่นอีกหลายคน เพื่อที่จะได้รับเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทยมาเข้าร่วมประกวด ณ เวทีนี้
ซึ่งบรรยากาศในการประกวดนั้น เราจะได้พบเห็นเยาวชนตัวแทนจากหลากหลายประเทศทั่วโลก มาเข้าร่วมทำการแข่งขันอย่างตั้งใจ ยิ่งขึ้นชื่อว่างานฝีมือแล้ว การจะทำงานให้ดีมีคุณภาพ ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์เป็นอย่างมาก แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคงจะเป็น “แรงใจ”เพราะป้อมนั้น ได้รับบาดเจ็บจากการใช้กรรไกร พลาดตัดโดนนิ้ว แต่ก็ยังสู้ต่อไป และทำผลงานออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
การเตรียมตัวที่ดี แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีเยี่ยม สู่เสียงปรบมือจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายคนทั่วโลก
“ปูนมันเซ็ทตัวช้ากว่าที่ฝึกมาครับ”
นี่คือปัญหาแรกที่แจ็คได้เล่าให้กับสื่อมวลชนฟัง เกี่ยวกับสิ่งที่พบเจอในการประกวดครั้งนี้ ซึ่งนอกจากเรื่องปูนเซ็ทตัวช้าแล้ว ยังมีปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ด้วยการเตรียมตัวและฝึกฝนมาดี ทำให้แจ็คสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี และด้วยตำแหน่งพื้นที่แข่งขันที่ตั้งอยู่ข้างหน้าห้องพักของผู้เชี่ยวชาญ (Experts) ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศได้เห็นกระบวนการทำงานของแจ็คโดยตลอด และเมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน ผลงานของแจ็คนั้นได้รับเสียงปรบมือและชื่นชมจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายคนด้วยความประทับใจ
“รู้สึกดีใจครับ นี่คือเวทีระดับโลก นี่คือเวทีสูงสุดของการประกวดฝีมือแรงงาน มันคือความฝัน ดีใจจริง ๆ ครับ” แจ็คกล่าว
ผลจากต้นไม้ของพ่อ แรงบันดาลใจจากพระมหากรุณาธิคุณ สู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ของเยาวชน คนต้นแบบในอนาคต
“มันเหมือนเพลงพระราชนิพนธ์ ‘ความฝันอันสูงสุด’ เพลงนี้เลย เมื่อเช้าผมฟังเพลงนี้ก่อนมา และก็ส่งให้แจ็คได้ฟังด้วย คือเพลงนี้เหมือนกับการแข่งขันในสาขานี้เลย แจ็คนี่ฝึกมา 4 ปีแล้วนะ เพื่อมาแข่ง 4 วันในสาขานี้ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” เรามาไกล และนี่คือความฝันอันสูงสุด” นี่คือคำกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของผู้เชี่ยวชาญในสาขาก่ออิฐของประเทศไทย ที่เป็นเหมือนครูพี่เลี้ยงของแจ็ค เป็นโค้ชคอยอบรมฝึกสอนและดูแลมาตลอด
เป็นสิ่งยืนยันได้โดยแท้ ว่าพระองค์ท่านทรงเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะก้าวเดินตามความฝันของตน นอกจากคำพูดที่ทุกคนกล่าวแล้วนั้น เราสังเกตได้ว่า ตัวแทนประเทศไทยทุกคน ล้วนมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านติดตัว เป็นเหมือนวัตถุมงคล ที่จะช่วยประทานพรให้การแข่งขันของตนผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ธงชาติไทยปลิวไสว 14 เหรียญรางวัลของเยาวชนไทย ในเวทีระดับโลก
เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ก็ถึงเวลาที่ทุกคนต่างรอคอยกับการประกาศผลรางวัล ซึ่งเยาวชนตัวแทนจากประเทศไทยก็ไม่ทำให้เราต้องผิดหวัง ธงชาติไทยของเราได้โบกสะบัดอย่างงดงาม ณ เวทีแข่งขันระดับโลก พร้อมกับ เหรียญรางวัลจำนวน 14 เหรียญ ได้แก่เหรียญเงิน (Silver)จาก นางสาวณัชชา แซ่โง้ว สาขาประกอบอาหาร และอีก 13 เหรียญฝีมือยอดเยี่ยม (Medallion for Excellence)
ซึ่งทั้งแจ็คและป้อมจากสาขาการจัดดอกไม้ และสาขาการก่ออิฐนั้น ได้รางวัลเหรียญฝีมือยอดเยี่ยมทั้งคู่ นอกจากนี้ ยังมีรางวัล Best of Nation ที่มอบให้แก่ผู้ที่ทำคะแนนได้สูงที่สุดจากผู้เข้าแข่งขันในประเทศเดียวกัน ซึ่งตกเป็นของ นางสาวณัชชา แซ่โง้วนั่นเอง
มุมมองใหม่ของ “เด็กช่าง” ในประเทศไทย ภาพลักษณ์ที่แท้จริงที่คนไทยควรจับตามอง
“ผมว่า ‘อาชีวะ’ นี่ ส่วนน้อยมากจริง ๆ นะครับที่ไปมีเรื่อง ไปตีกัน นับเป็นแค่ 10% เท่านั้นเอง เด็กอาชีวะตั้งใจเรียนกันนี่ 90% เลยนะครับ แต่คนกลับเลือกมองแค่จุด ๆ เดียว”
ประโยคที่ฟังดูชวนน้อยใจเบา ๆ จากแจ็คนี้ สามารถสะท้อนอะไรได้หลาย ๆ อย่าง อย่างแรกที่เราทุกคนรู้กันดีถึงภาพลักษณ์ของเด็กช่างในสายตาคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งก็ยังมองไปในเชิงที่เป็นแง่ลบกันอยู่มาก แต่ในความเป็นจริง ๆ เด็กอาชีวะคุณภาพของประเทศเรานั้นมีจำนวนมากกว่าเด็กที่มีปัญหา ซึ่งการมาร่วมประกวด วาดลวดลายในเวทีแข่งขันระดับโลกของเยาวชนไทยในสายอาชีวะในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะทำให้คนไทยได้ปรับมุมมองที่มีต่อ ‘เด็กช่าง’ ไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย
ที่มา :marketingoops