ปภ.แนะนำผู้ขับขี่เรียนรู้เทคนิคขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม โดยปิดเครื่องปรับอากาศ ใช้ความเร็วต่ำ รักษาความเร็วให้อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่เร่งเครื่องยนต์ กรณีรถยนต์เกียร์ธรรมดา ให้ใช้เกียร์ 1 หรือเกียร์ 2 รถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ควรใช้เกียร์ L ลดการใช้เบรก โดยใช้แรงเฉื่อยของเครื่องยนต์ในการหยุด หรือชะลอความเร็วแทนการเบรก หลังขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม ควรตรวจสอบระบบเบรกและคลัตช์ และขับรถต่อไปอีกประมาณ 20 นาที เพื่อไล่น้ำหรือความชื้นออกจากเครื่องยนต์ รวมถึงไม่ดับเครื่องยนต์ในทันที พร้อมเปิดเครื่องปรับอากาศ จะช่วยให้เครื่องยนต์แห้งเร็วขึ้น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การขับรถผ่านเส้นทางที่มีน้ำท่วมสูงมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย และเครื่องยนต์ชำรุดเสียหาย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม ดังนี้
ปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะพัดลมจะพัดน้ำเข้าไปในห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับ รวมถึงอาจพัดเศษวัสดุเข้าไปติดในมอเตอร์พัดลม หรือใบพัด ทำให้ระบบระบายความร้อนของครื่องยนต์ขัดข้อง ใช้ความเร็วต่ำ โดยรักษาความเร็วให้อยู่ในระดับเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันคลื่นน้ำที่อาจกระเด็นบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง และกระแสน้ำอาจพัดเข้าห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมทิศทางรถ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไม่เร่งเครื่อง เพราะทำให้ความร้อนสูง ใบพัดระบายความร้อนทำงานหนัก และน้ำเข้าเครื่องยนต์มากขึ้น ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับ
ใช้เกียร์ต่ำ หากเป็นรถยนต์เกียร์ธรรมดา ให้ใช้เกียร์ 1 หรือเกียร์ 2 พยายามเลี้ยงคลัตช์ พร้อมเร่งเครื่องยนต์ให้รอบเครื่องสูงกว่าปกติเล็กน้อย สำหรับรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ควรใช้เกียร์ L และรักษารอบเครื่องยนต์ให้คงที่ ลดการใช้เบรก โดยใช้แรงเฉื่อยของเครื่องยนต์ในการหยุด หรือชะลอความเร็วรถ เพื่อความปลอดภัย ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุกรณีรถคันหน้าขัดข้องหรือหยุดกะทันหัน หลังขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม ควรตรวจสอบระบบเบรกและคลัตช์ โดยเหยียบย้ำเบรกและคันเร่งสลับกันอย่างช้าๆ โดยทำซ้ำๆ เพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรก จะช่วยให้ระบบเบรกใช้งานได้ตามปกติ สำหรับรถยนต์เกียร์ธรรมดา ให้เหยียบย้ำคลัตช์ เพื่อป้องกันคลัตช์ลื่น ขับรถต่อไปอีกประมาณ 20 นาที เพื่อไล่น้ำหรือความชื้นที่ค้างอยู่ในระบบต่างๆ ของรถ และเครื่องยนต์ ไม่ดับเครื่องยนต์ในทันที โดยสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที พร้อมเปิดเครื่องปรับอากาศ จะช่วยให้เครื่องยนต์แห้งเร็วขึ้น
ทั้งนี้ หลังขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม ผู้ขับขี่ควรตรวจสอบเครื่องยนต์ หากรถมีอาการผิดปกติ เช่น เครื่องยนต์สั่น เดินไม่เรียบ มีเสียงดัง เร่งเครื่องไม่ขึ้น น้ำมันเกียร์มีสีคล้ายสีชาเย็น เป็นต้น ควรนำรถไปให้ช่างผู้ชำนาญการตรวจสอบสภาพก่อนนำรถไปใช้งาน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
ที่มา – กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , thaihealth