พฤติกรรมของลูกน้อย กับลิ้นติดรส ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม!!! …
รู้ไหม ???? พฤติกรรมการกินของเด็กน้อย ที่ชอบรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อย่างขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน ฯลฯ ติดรสชาติ เค็ม หวาน มัน จนแก้ไม่หาย ไม่เอาของที่ไม่ชอบ มีแต่งอแงร้องไห้ หากปล่อยทิ้งไว้นานจนกลายเป็นนิสัย อาจนำมาซึ่งโรคอ้วน หรือ หลายๆโรคตามมาได้
แพทย์หญิงอนุตรา โพธิกำจร กุมารแพทย์โรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แนะนำวิธีที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาคือ ต้องปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มีคุณภาพ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เอง เพราะการที่เด็กติดรสชาติหวาน มัน เค็ม หรือติดการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ มาจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องของครอบครัว หลายบ้านเมื่อลูกโตขึ้นพอที่จะกินอะไรได้ คุณพ่อคุณแม่มักจะให้ลองชิมน้ำหวาน ขนม ไอศกรีม พอเด็กได้ลองก็กลายเป็นชอบและติดในที่สุด
คุณพ่อคุณแม่มือใหม่
สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หากไม่อยากให้ลูกติดรสชาติที่ปรุงแต่งจนเยอะเกินไป แนะนำให้ดูแลเรื่องอาหารสำหรับเจ้าตัวเล็ก ดังนี้
อายุแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรให้กินแต่นมแม่ ในกรณีที่นมแม่ไม่พอหรือกินนมแม่ไม่ได้ ให้กินนมผงสำหรับทารกแรกเกิดแทน ซึ่งในนมแม่และนมผงประเภทนี้มีปริมาณสารอาหารที่เพียงพอสำหรับเด็ก ปริมาณของโซเดียม แคลอรี ไขมัน และโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกายกำลังดี
อายุ 6 – 9 เดือน ให้กินอาหารเสริมวันละมื้อควบคู่กับนม โดยเน้นอาหารให้ครบ 5 หมู่ และต้องไม่ปรุงรสใดๆ เน้นรสธรรมชาติ
อายุ 9 – 12 เดือน เพิ่มอาหารเสริมเป็น 2 มื้อ และกินผลไม้เป็นของว่างได้
อายุครบ 1 ขวบ ให้กินอาหาร 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น เหมือนผู้ใหญ่ แต่ไม่ปรุงมาก เน้นรสธรรมชาติ ส่วนนมถือว่าเป็นของว่างช่วงสาย บ่าย และก่อนนอน
การจัดสัดส่วนปริมาณสารอาหารที่ครบถ้วน
คือ เน้นผักใบเขียว 40%เสริมด้วยผลไม้ แป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต 25% โปรตีนคุณภาพดี คือโปรตีนเนื้อๆ ไม่เอาหนังไม่เอามัน 25% และผลไม้ 10% ที่สำคัญมากคือ อย่าส่งเสริมให้เด็กรับประทานโปรตีนแปรรูป พวกไส้กรอก หมูแฮม เบค่อน กุนเชียง ปูอัด หมูหยอง เพราะมีสารเคมีค่อนข้างเยอะ รวมถึงมีโซเดียมและไขมันอิ่มตัวสูง
วิธีเปลี่ยนลิ้นติดรสหวาน รสเค็ม และรสอื่นๆ
เด็กน้อยบ้านไหนที่ลิ้นติดรสเหล่านี้ เราจะไม่ใช่วิธีการบังคับลูกให้รับประทานผักหรือทานหวานลดลง แต่เราจะใช้วิธีการปรับสิ่งแวดล้อมโดยรวม คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเลิกปล่อยให้เด็กรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวของเด็กน้อยให้มีแต่ของดีๆ มีประโยชน์ เช่น ถ้าไม่อยากให้ลูกรับประทานไอศกรีม ก็ไม่ควรมีไอศกรีมอยู่ในบ้าน เพื่อไม่ให้เด็กนึกถึง ส่วนเวลาไปเที่ยวก็เลือกพาลูกไปเดินสวนสาธารณะ ปั่นจักรยานแทน แทนการพาไปในสถานที่ที่มีขนมหวานจำหน่าย นี่คือการปรับสภาพแวดล้อมและปรับพฤติกรรมทั้งครอบครัว ซึ่งจะช่วยตัดปัญหาเรื่องการกินและโรคภัยต่างๆ ได้
การทำอาหารให้ลูกรับประทาน
จำไว้เลยว่า อาหารที่ดีที่สุดคืออาหารรสธรรมชาติ ฉะนั้นทุกครั้งที่ทำอาหารให้ลูกต้องผ่านการปรุงรสน้อยที่สุด ส่วนเครื่องดื่มให้เน้นเป็นน้ำเปล่าและนมรสจืดพร่องมันเนยเท่านั้น แม้กระทั้ง นมช็อกโกแลต นมหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ ไม่ควรให้เด็กรับประทาน รวมถึงน้ำผลไม้ แม้จะคั้นเองก็ไม่แนะนำ เพราะในน้ำผลไม้มีปริมาณน้ำตาลสูงซึ่งจะทำให้เด็กติดหวานได้ หากอยากให้ลูกกินผลไม้ก็ควรให้กินผลไม้เป็นชิ้นๆ เพราะมีใยอาหารและวิตามินอื่นๆ รวมอยู่ด้วย
สรุปง่ายๆ คือ ถ้าอยากจะเปลี่ยนลิ้นและสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับลูก ต้องเริ่มแก้ที่พ่อแม่ก่อน ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เฮลท์ตี้ และไม่มีทางเลือก เมื่อไม่มีทางเลือก ลูกก็จะกินสิ่งที่เราอยากให้กิน และจะค่อยๆ ติดเป็นนิสัยชอบที่จะรับประทานแต่สิ่งดีๆ ในที่สุด แต่หากบ้านไหนตามใจลูกปล่อยให้เลือกกินแต่ของไม่มีประโยชน์ ลูกๆ อาจจะกลายเป็นเด็กอ้วนที่หลายคนมองว่าน่ารักจ้ำม่ำ แต่ที่น่ากลัวคือจะนำมาซึ่งโรคต่างๆ อีกมากมาย ทำให้คอเลสเตอรอล หรือไขมันในเลือดสูง น้ำตาลสูงจนเป็นเบาหวานได้ และยังทำให้ความดันโลหิตสูงด้วย ที่สำคัญคือ น้ำหนักที่ผิดปกติจะทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงในเส้นเลือด จนเส้นเลือดมีความผิดปกติ มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจได้
ดังนั้น ควรกันไว้ดีกว่าแก้ ดีกว่า.. ก่อนจะกลายเป็นผลเสียระยะยาว เพื่อลูกน้อยสุดที่รักของเรา
—————————-
ข้อมูลจาก : www.bumrungrad.com