ภัย จาก “หมูกระทะ” !!
เชื่อเลยว่าหลายคนก็เคยอ่าน หรือ เคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับคำเตือนคำกล่าวเกี่ยวกับโรคภัยที่ตามมากับการกิน เนื้อย่าง !! ทุกวันนี้ เนื้อย่างหมูกระทะ ก็ถือเป็นที่ชื่นชอบของวัยทำงาน วัยรุ่น และใครหลายๆคน ก็มันคุ้มมากกับราคาที่เราจ่ายได้ แถมเป็น บุฟเฟต์ ที่ทานได้ไม่อั้น แต่… คุ้มเรื่องราคา รสชาติ และความรู้สึกที่ได้ทาน แล้วสุขภาพร่างกายที่เราต้องแลกกับโรคร้ายต่างๆ ที่จะตามมามันคุ้มหรือไม่ ?
เนื้อหมู : การกินอาหารแบบ สุกๆดิบๆ อาจนำมาซึ่งโรคต่างๆ เพราะอาจมีเชื้อชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้รับเชื้อเกิดอาการ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง ปวดศรีษะ อาเจียน หูหนวก ชักกระตุก หรืออาจเป็นอัมพาต บางรายอาจปอดอักเสบ สาตาพร่ามัว และอาจหูหนวกถาวรได้
ผ้าขี้ริ้ว : สีขาวที่น่ากินของผ้าขี้ริ้วอาจปนเปื้อนสารฟอกขาว ที่ฟอกสีดำของผ้าขี้ริ้วจนขาวน่ากินได้ และหากรับประทานเป็นปริมาณมากอาจทำให้หายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วง ซึ่งสำหรับคนที่แพ้หรือเป็นหอบหืดอาจมีอาการช็อค หมดสติ และเสียชีวิตจากการกินสารนี้เข้าไปได้
อาหารทะเล : เช่น กุ้ง แมงกะพรุน ปลาหมึกสด และปลาหมึกกรอบ อาจปนเปื้อนสารฟอร์มาลีนที่ช่วยให้อาหารคงความสด กรอบ ซึ่งใช้กับพวกอาหารทะเล ซึ่งหากร่างกายได้รับจะส่งผลต่อการทำงานของไต หัวใจ และอาจทำให้สมองเสื่อมได้ หากได้รับปริมาณมากหรือแพ้สารนี้ ก็จะปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน หมดสติถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาหารแปรรูป : เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก อาจปนเปื้อนสารบอแร๊กซ์ที่ทำให้อาหารกรอบอร่อย หากร่างกายได้รับสารนี้เป็นจำนวนมาก จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นพิษต่อไต ก่อให้เกิดไตวายและเป็นอันตรายต่อสมอง
นอกจากนี้ภัยสุขภาพที่มาจากการรับประทานอาหารปิ้งย่างหรือรมควันเป็นประจำ ก็จะเสี่ยงที่จะได้รับสารอันตราย 3 ชนิด (ข้อมูลจาก นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย)
สารไนโตรชามีน nitrosamines : มักพบในปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง และในเนื้อสัตว์ที่ใส่สารไนเตรท ประเภทแหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่มีสีแดงผิดปกติ ทำให้เสี่ยง สารก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร
สารพัยโรลัยเซต Pyrolysates : พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหาร ปิ้ง ย่าง สารกลุ่มนี้บางชนิดมีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรมมากกว่าสารอะฟลาทอกซินตั้งแต่ 6-100 เท่า
สารพีเอเอช หรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน Polycyclic aromatic hydrocarbon :
ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม โดยสารนี้จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารที่ปรุงด้วยการปิ้ง ย่าง หรือรมควัน ของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ด้วยเนื่องจากขณะปิ้งย่าง ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพีเอเอช ลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร หากรับประทานในปริมารมากหรือเป็นประจำก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ ซึ่งจากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในปี 2553 มีผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทย23,410 ราย และเสียชีวิต 20,334 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 55 คนต่อวัน หรือ 2 คนต่อชั่วโมง
หากอยากรับประทานจริงๆ ก็ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เปลี่ยนจากที่กินบ่อยเป็นประจำ เป็นนานๆกินที จริงอยู่ที่การกินหมูกระทะบุฟเฟ่ต์ที่แสนจะคุ้ม แต่อย่าลืมนึกสักนิดว่า คุ้มรึเปล่ากับภัยสุขภาพที่เราต้องเสี่ยงและเสียไป
ข้อมูลจาก : thaihealth.or.th
ภาพจาก : my.dek-d.com , thaihealth.or.th , tripadvisor.co.uk